​กรมเจรจาฯ เผยส่งออกผลไม้ไปคู่เจรจาเอฟทีเอพุ่ง “ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง”สุดฮอต

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยช่วง 2 เดือนปี 64 ไทยส่งออกผลไม้ไปคู่เจรจาเอฟทีเอมูลค่า 461 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 107% คิดเป็นสัดส่วน 94.94% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด ระบุ “ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง” ได้รับความนิยมมากสุด ชี้ 12 คู่เจรจาเอฟทีเอยกเว้นภาษีให้ไทยแล้ว เหลือแค่ 6 ประเทศ ส่วนอาร์เซ็ปที่เพิ่งลงนามไปเมื่อพ.ย.63 ไทยได้ประโยชน์เพิ่ม เกาหลีใต้จะลดภาษีทุเรียน มังคุด เวียดนาม ลดภาษีส้ม   
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการส่งออกผลไม้ของไทย ไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จำนวน 18 ประเทศ ในช่วง 2 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 461 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 107% และคิดเป็น 94.94% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทย โดยตลาดการส่งออกที่มีการขยายตัว ได้แก่ จีน เพิ่ม 162% มาเลเซีย เพิ่ม 263% สิงคโปร์ เพิ่ม 44% อินโดนีเซีย เพิ่ม 686% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 187% ฮ่องกง เพิ่ม 19% ออสเตรเลีย เพิ่ม 8% และชิลี เพิ่ม 786% เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด ลำไยสด และมะม่วงสด ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก โดยมีผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิในการส่งออกผลไม้ดังกล่าวในลำดับแรกๆ
         


โดยความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศนั้น 12 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้สดผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้งทุกรายการจากไทยแล้ว ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้ส่วนใหญ่ให้ไทย เหลือเพียงสินค้าบางชนิดที่ยังเก็บภาษีนำเข้าจากไทย

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งไทยเพิ่งร่วมลงนามไปเมื่อเดือนพ.ย.2563 ปรากฏว่า ไทยสามารถผลักดันการลดภาษีเพิ่มเติมในสินค้าผลไม้ เช่น เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีทุเรียนสดและมังคุดสด และเวียดนามจะทยอยลดภาษีส้ม จนเหลือ 0% ในปีที่ 10 หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ เป็นต้น
         
ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้ อันดับที่ 7 ของโลก และในระยะยาวการค้าผลไม้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากล พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการตลาด และการปรับตัวสู่การค้ายุคใหม่ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอให้เต็มที่เพื่อครอบครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้สินค้าผลไม้ไทย



ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง