“จุรินทร์”ถกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตั้งเป้าขายปีนี้ 6 ล้านตัน พร้อมอัด 6 มาตรการทำยอด

img

“จุรินทร์”นำทีมพาณิชย์ ทั้งผู้บริหาร เซลส์แมนประเทศและเซลส์แมนจังหวัด พบสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมประเมินทิศทางตลาดข้าวไทยปี 64 ตั้งเป้าผลักดันส่งออก 6 ล้านตัน พร้อมอัด 6 มาตรการเพิ่มยอดขาย ทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ ขายข้าวจีทูจี ถกคู่ค้าลดภาษี ลดอุปสรรค ลดต้นทุน เร่งขายออนไลน์ ออฟไลน์ ไฮบริด และตามหาพันธุ์ข้าวใหม่
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการนำทีมกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง โดยมีทูตพาณิชย์จาก 17 ประเทศ ที่นำเข้าข้าวไทยและเป็นตลาดสำคัญของข้าวไทย และพาณิชย์จังหวัด 20 จังหวัด ที่เข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ ไปพบปะหารือเรื่อง “ทิศทางตลาดข้าวไทยปี 2564 กับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ว่า เป็นการมาเยี่ยมสมาคมฯ และหารือร่วมกันในประเด็นการค้าข้าว โดยมีข้อสรุปในประเด็นเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2564 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2563 ที่ส่งออกได้ 5.7 ล้านตัน โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไป และตลาดเฉพาะ
         
ทั้งนี้ ตลาดพรีเมียม ได้เน้นการผลักดันการส่งออกข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมไทย โดยข้าวหอมมะลิตั้งเป้าขยายตัว เพิ่มขึ้น 4.8% ข้าวหอมไทย เพิ่ม 5.2% ตลาดทั่วไป เน้นข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยข้าวขาวตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 4.7% ข้าวนึ่ง เพิ่ม 4.9% ส่วนตลาดเฉพาะ เน้นข้าวเหนียว ข้าวกล้อง และข้าวสี โดยข้าวเหนียวตั้งเป้าเพิ่มขึ้น 3.6% ข้าวกล้องและข้าวสี เพิ่ม 12.5%
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับมาตรการผลักดันการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 ได้กำหนดไว้รวม 6 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั้งหมด เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่น และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับข้าวไทยว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยใช้ Think Rice Think Thailand ถ้าคิดถึงข้าว ต้องคิดถึงประเทศไทย ทุกสำนักงานฯ และทีมเซลล์แมน ทั้งในประเทศและทั่วโลก จะใช้ธีมนี้ในการทำประชาสัมพันธ์  
         


มาตรการที่ 2 เร่งรัดเปิดตลาดการขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) โดยได้กำหนดไว้ทั้งหมด 4 ตลาดใหญ่ ประกอบด้วยอินโดนีเซีย ที่ไม่กี่วันที่ผ่านมาที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามเอ็มโอยูกับอินโดนีเซีย เปิดตลาดข้าวอินโดนิเซีย 4 ปี จำนวน 4 ล้านตัน ตลาดบังกลาเทศ ที่ประชุม ครม. ได้ให้ความเห็นชอบในการทำเอ็มโอยูเป็นเวลา 5 ปี ปริมาณ 5 ล้านตัน ตลาดอิรัก ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยประสบปัญหาหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีผู้ส่งออกข้าวไทยรายหนึ่งส่งข้าวด้อยคุณภาพไปขาย ทำให้อิรักแบนข้าวไทยเป็นเวลาหลายปี ขณะนี้ประสบความสำเร็จแล้ว อิรักเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเข้าไปประมูลขายข้าวในอิรักได้แล้ว แต่ยังติดเรื่องความเข้าใจมาตรฐานข้าวขาว 100% โดยเข้าใจว่าข้าวขาว 100% ของไทย คือ ข้าวขาว 5% ซึ่งจะต้องมีการทำความเข้าใจ และการส่งข้าวไปยังอิรัก ต้องมีเอกสารรับรองจากสถานทูตอิรักประจำประเทศไทย ขณะนี้ไทยไม่มีสถานทูตอิรักประจำประเทศไทย จะมีการเจรจาขอปรับเงื่อนไขลดอุปสรรค และตลาดจีน ที่ได้ทำเอ็มโอยูในอดีตและจีนยังมีภาระตามเอ็มโอยูที่ต้องนำเข้าข้าวอีก 3 แสนตัน ซึ่งจะต้องเร่งรัดผลักดันต่อไป
         
มาตรการที่ 3 กำหนดว่าในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จะต้องหยิบประเด็นขอให้ประเทศคู่เจรจาลดภาษีนำเข้าข้าวในตลาดสำคัญ กับทั้งเม็กซิโก สหภาพยุโรป (อียู) สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ และนำประเด็นการเจรจาลดอุปสรรคการนำเข้าข้าวในกระบวนการขั้นตอน ประเด็น เงื่อนไขอื่นๆ ไว้ในการเจรจาด้วย
 
มาตรการที่ 4 จับมือร่วมกับกระทรวงอื่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลดต้นทุนการส่งออก เช่น ค่าระวางเรือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
         
มาตรการที่ 5 เร่งรัดขยายช่องทางการตลาด ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ ออนไลน์ และไฮบริด โดยทีมเซลล์แมนประเทศ จะต้องเร่งดำเนินการ และจัดกิจกรรม
         


มาตรการที่ 6 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงพาณิชย์ ในการแสวงหาข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ โดยจะจัดกิจกรรมประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของทุกภาคส่วน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวหอม ข้าวนุ่ม และข้าวแข็ง มุ่งเน้นทั้งกระบวนการปลูก การผลิต การสี และรสชาติ เพื่อนำพันธุ์ข้าวที่ประกวดมาเทียบกับปัจจุบันว่าดีกว่าแค่ไหน อย่างไร และจะได้ทำไปทำการค้าเชิงพาณิชย์และขยายตลาดส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวในตลาดโลกต่อไป
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างตลาดหนึ่งที่เราประสบความสำเร็จในการสร้างอัตราการขยายตัวได้สูงมาก คือ ตลาดแคนาดา โดยทีมเซลล์แมนประเทศที่โตรอนโตประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เปิดตลาดข้าว เพิ่มการนำเข้าข้าวไปแคนาดาจากปี 2562 คือ 80,000 ตัน เป็น 120,000 ตันในปี 2563 เพิ่มขึ้น 21% โดยมีกลยุทธ์หลัก เช่น มุ่งเน้นการขายข้าวไทยออนไลน์ไปยังผู้บริโภคและตัวแทนค้าส่งที่สำคัญ ทำประชาสัมพันธ์ข้าวไทยไม่ต้องรับประทานแบบวิถีไทยเท่านั้น สามารถนำไปประยุกต์กับอาหารพื้นถิ่นของแคนาดาได้ เช่น ทำสลัดข้าว เป็นต้น และทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนสอนทำอาหารในประเทศแคนาดาและโปรโมตข้าวไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแคนาดา ประชาสัมพันธ์ว่าข้าวไทยเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีน้ำตาลต่ำ โดยคนแคนาดามีน้ำตาลในเลือดสูงถึง 128 เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นของทีมเซลล์แมนประเทศที่แคนาดา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว นายจุรินทร์ ได้ลงนามเอ็มโอยู หรือข้อตกลงการค้าข้าวกับประเทศอินโดนีเซีย ตามที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับกระทรวงการค้าแห่งประเทศอินโดนีเซีย

ชมภาพบรรยากาศการหารือ






 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง