​“โพลพาณิชย์”ชี้คนไทยยังเน้นทำบุญ-ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดันเงินสะพัด 10,800 ล้านบาท

img

“พาณิชย์”เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบคนยังเดินทางไปทำบุญและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้เศรษฐกิจจะซบเซาและมีปัญหาโควิด-19 ระบุส่วนใหญ่ขอขวัญกำลังใจ โชคลาภ เงินทองและการงาน ธุรกิจ คาดเงินสะพัด 10,800 ล้านบาท คิดเป็น 0.36% ของมูลค่าท่องเที่ยวไทย แนะดูแลศาสนสถาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้คงสภาพดี เพื่อหนุนการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น 
         
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมา สนค. ได้ทำการสำรวจการพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่า ในการเดินทางไปทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา และมีอุปสรรคจากการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่า ยังไปทำบุญและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่าเดิม ถึงร้อยละ 44.98 ลดลง ร้อยละ 43.95 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 โดยส่วนที่เพิ่มมาจากข้าราชการ พนักงาน และผู้ไม่มีงานทำเป็นหลัก
         
“ที่ได้ลงไปสำรวจในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าความเชื่อและศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาหรือเครียด คนไทยก็มักจะหันหน้าเข้าวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามศาสนาของตนเพื่อขอพรและโชคลาภ ดังที่เราเห็นข่าวเรื่องการบนขอหวยและการแก้บนเพิ่มขึ้นมากในสื่อต่างๆ จึงเชื่อว่ามีเงินสะพัดในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากในหลายจังหวัด”
         
ทั้งนี้ ผลการสำรวจ พบว่า วัตถุประสงค์ 3 อันดับแรก ในการทำบุญไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต ร้อยละ 42.42 ขอโชคลาภ เงินทอง ร้อยละ 29.64 ขอเรื่องการงาน ธุรกิจ ร้อยละ 10.95 สุขภาพ ร้อยละ 8.74 ความรัก ครอบครัว ร้อยละ 5.90 และการเรียน การศึกษา ร้อยละ 2.34 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญและกำลังใจ รายได้ และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน



ส่วนผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.72 มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100-200 บาท รองลงมา คือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 24.57 ดังนั้น ประชาชนกว่าร้อยละ 70 ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน นักศึกษา ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ โดยการใช้จ่ายทำบุญส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ ถึงร้อยละ 47.58 รองลงมา คือ การถวายสังฆทาน ร้อยละ 39.46 บูชาเครื่องรางของขลัง ร้อยละ 5.59 สะเดาะเคราะห์ ร้อยละ 5.10 และเสี่ยงทาย เช่น เซียมซี ยกพระเสี่ยงทาย ร้อยละ 2.28
         
อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เพราะนอกเหนือจากการทำบุญในศาสนสถาน บริเวณโดยรอบยังเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย อีกทั้งยังมีกิจกรรมทางความเชื่อนอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนาที่ผู้คนบางส่วนนิยมใช้จ่าย อาทิ การดูดวงชะตา แบ่งเป็นชะตาราศี เช่น วัน เดือน ปีเกิด ร้อยละ 54.13 ลายมือ ร้อยละ 20.94 ไพ่ยิปซี ร้อยละ 12.23 โหงวเฮ้ง ร้อยละ 6.97 ร่างทรง นั่งทางใน ร้อยละ 5.72 ซึ่งค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่หลักสิบบาทจนถึงหลักพัน หรือการบูชา เช่าพระเครื่องเพื่อการเก็งกำไร ที่มีมูลค่าสูงเป็นหลักล้านบาท

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า จากผลการสำรวจในครั้งนี้ สนค. ประมาณการว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทย ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด

“การประชาสัมพันธ์และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดีและมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ประเด็นด้านศาสนาและความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องมีความระมัดระวังในการกำหนดมาตรการ นโยบายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจเกิดขึ้นได้”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง