​กรมเจรจาฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็นฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู หลังผลศึกษาชี้ไทยได้เพียบ

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู 22 ก.ย.นี้ หลัง “ไอเอฟดี” ศึกษาเสร็จแล้ว “อรมน”ชี้ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม 62.8% ถ้าได้อียูที่มีสัดส่วนการค้า 7.9% จะทำให้การค้าของไทยกับประเทศที่ทำ FTA เพิ่มเป็น 70.7% ยิ่งสร้างโอกาสค้าขาย แย้มผลศึกษา สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกได้เพียบ แต่ก็ต้องเปิดตลาดให้อียูเพิ่ม จับตาหากเจรจา ต้องรับมือกับประเด็นใหม่ๆ ด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดจัดการสัมมนา “ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU?” ในวันที่ 22 ก.ย.2563 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และแลกเปลี่ยนความเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าว รวมทั้งระดมความเห็นเรื่องการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนที่จะรวบรวมความคิดเห็นเสนอระดับนโยบายประกอบการพิจารณาตัดสินใจการดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป



ทั้งนี้ ผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า การทำ FTA กับอียูจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก แต่ในทางกลับกัน ไทยจะต้องเปิดตลาดให้อียู ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไทยนำเข้าสินค้าบางชนิดจากอียูเพิ่มขึ้น เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เมล็ดพืชน้ำมัน และสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า FTA ที่อียูทำกับสิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นใหม่ๆ รวมไว้ในการจัดทำ FTA ด้วย เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน และการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องพิจารณาระดมความเห็นว่าไทยพร้อมที่จะเจรจากับอียูในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร เพราะจะมีผลต่อการนำไปสู่การปรับกฎเกณฑ์ทางการค้าของไทย



นางอรมนกล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยมีการลงนาม FTA แล้ว 13 ฉบับ กับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู โดยในปี 2562 สัดส่วนการค้าของไทยกับ 18 ประเทศ ที่มี FTA คิดเป็น 62.8% ของการค้าไทยกับทั้งโลก ซึ่งแสดงว่าการค้าของไทยกับโลกอีกเกือบ 40% เป็นการค้ากับประเทศที่ไทยไม่มี FTA หรือแต้มต่อทางการค้า ซึ่งในนี้ มีอียู 27 ประเทศ รวมอยู่ด้วย และมีสัดส่วนการค้ากับไทยในปี 2562 สูงถึง 7.9% และเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าของไทยกับทั่วโลก ซึ่งถือว่าสูงรองจากอาเซียนที่มีสัดส่วน 22.4% จีน 16.5% ญี่ปุ่น 12% และสหรัฐฯ 10.1%

“ถ้าไทยทำ FTA กับอียู ก็จะทำให้สัดส่วนการค้าที่ไทยค้าขายกับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้นเป็น 70.7% ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร แต่หากเทียบตัวเลขปัจจุบันที่มีสัดส่วน 62.8% กับคู่แข่งในอาเซียน ก็ยังถือว่าน้อย โดยสิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกสูงถึง 94.5% อินโดนีเซีย 76% มาเลเซีย 71.5% และเวียดนาม 69.9% ซึ่งกรมฯ จะเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการค้าต่อไป”นางอรมนกล่าว

ล่าสุด สหภาพยุโรป (อียู) มีสมาชิก 27 ประเทศ ไม่นับสหราชอาณาจักร (ยูเค) ซึ่งต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2563 โดยอียูเป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมกันกว่า 447 ล้านคน และมีจีดีพีกว่า 15.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 18% ของจีดีพีโลก เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และเป็นนักลงทุนลำดับ 5 ของไทย รองจากญี่ปุ่น จีน อาเซียน และจีนไทเป

ปัจจุบันอียูมีการทำ FTA กับสิงคโปร์และเวียดนามแล้ว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2562 และ 1 ส.ค.2563 ตามลำดับ และอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับอินโดนีเซีย โดยเจรจากันมาแล้ว 9 รอบ ตั้งแต่เดือนก.ค.2559 รวมทั้งอยู่ระหว่างพักการเจรจา FTA กับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยในส่วนของไทยได้เคยเข้าสู่การเจรจา FTA กับอียู เมื่อปี 2556 เจรจากันไปแล้ว 4 รอบ แต่ได้หยุดชะงักลงเมื่อปี 2557 และล่าสุดเมื่อเดือนต.ค.2562 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้มีข้อมติที่จะเดินหน้าเตรียมความพร้อมสู่การฟื้นเจรจา FTA กับไทย

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง