​“จุรินทร์”ประกาศ เดินหน้าประกันรายได้ยาง และพืชเกษตร “ข้าว ปาล์ม มัน ข้าวโพด”ต่อ

img

“จุรินทร์”ประกาศกลางสวนยาง ประกันรายได้ยางพาราปี 2 เดินหน้าต่อแน่นอน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางให้มีรายได้ หลังทิศทางราคาตลาดโลกยังชะลอตัวจากเศรษฐกิจ และโควิด-19 ทำยอดใช้ยางลดลง เผยยังจะจัดเงินกู้ให้ธุรกิจไม้ยางและผลิตภัณฑ์ 2 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 3% รอชงเข้า ครม. แล้ว พร้อมย้ำประกันรายได้พืชเกษตรที่เหลืออีก 4 ชนิด ทั้งข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด ก็เดินหน้าต่อ
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ต.แหลมสอม อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง วันนี้ได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปี และมีคนบอกว่าจะทำต่อไหม ยืนยันว่าตราบใดที่ยังมีรัฐบาลชุดนี้ เราจะต้องทำต่อ เพราะประกันรายได้ชาวสวนยาง รวมถึงพืชเกษตรรวม 5 ชนิด (ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) เป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาผูกพันแล้ว
         
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติก็ได้มีมติว่าจะทำโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางต่อไปในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง โดยจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และยังเพิ่มเงินกู้ให้กับพ่อค้าที่ทำธุรกิจไม้ยางและผลิตภัณฑ์ โดยมีวงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท ช่วยดอกเบี้ย 3%
         


นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่ายางพารา ราคาไม่ดี เพราะโลกเปลี่ยนไป หลายจังหวัด หลายประเทศในโลกก็ปลูกยางพารา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและที่สำคัญมีภาวะโควิด-19 เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี การใช้รถยนต์ก็ลดลง การนำยางไปผลิตยางรถยนต์ก็น้อยลง ประกอบกับน้ำมันโลกราคาลดลง จึงมีการนำน้ำยางเทียมที่มีราคาถูกกว่ายางธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์แทน และยอดส่งออกยางเดือนที่ผ่านมา ตกไปกว่า 20% ที่ตกมากที่สุด คือ รถยนต์ที่ไทยส่งออกไปต่างประเทศตกถึง 30-40% ถ้ารถยนต์ส่งออกตก แปลว่ายางรถยนต์ขายไม่ได้ แปลว่ายางบ้านเราก็ราคาตก แล้วยังบวกกับราคาน้ำมันลด ซึ่งน้ำมัน คือ วัตถุดิบในการเอาไปทำยางเทียม ทำให้ยางเทียมราคาถูก ขณะที่คนที่ไปทำยางรถยนต์ ก็หันไปใช้สัดส่วนยางเทียมมากขึ้น เพราะต้นทุนต่ำ แทนที่จะมาซื้อยางธรรมชาติ สุดท้ายก็กดราคายางในตลาดซ้ำไปด้วย
         
อย่างไรก็ตาม ราคายางในอนาคตไม่ได้ดีเสมอไป แต่ก็ยังมีโครงการประกันรายได้ ที่จะช่วยชาวสวนยางให้มีรายได้พอกิน โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ซึ่งเป็นยางมาตรฐาน กำหนดไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท น้ำยางข้น กก.ละ 57 บาท และยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท ซึ่งหากราคายางพาราไม่ดี ก็จะได้รับส่วนต่าง ได้เงิน 2 กระเป๋า คือ กระเป๋าซ้ายจากการขายยางพารา และกระเป๋าขวา เป็นส่วนต่างที่ได้รับจากโครงการประกันรายได้

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง