“วีรศักดิ์”สั่งลงพื้นที่หารือเกษตรกร-ผู้ผลิต ทำแผนผลิต-ตลาดสินค้า GI รับความต้องการพุ่ง

img

“วีรศักดิ์”มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่หารือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน หลังพบปัญหาสินค้ามีไม่เพียงพอกับความต้องการ จากการที่สินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในและต่างประเทศ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่หารือกับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 5,000-10,000 ราย เพื่อร่วมกันทำแผนด้านการผลิตและการตลาด เพราะที่ผ่านมา การทำตลาดสินค้า GI หลายชนิดประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้า และสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงต้องวางแผนร่วมกันตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออก

"เท่าที่ทราบ มีผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนกว่า 2,000 ราย แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะเป็น 5,000-10,000 ราย จึงต้องมีการวางแผนร่วมกัน เพื่อสร้างความสมดุลของสินค้า และประเมินความต้องการของตลาด เพราะขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเดินหน้าประชาสัมพันธ์สินค้า GI ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพ เป็นของดี ของหายากของชุมชน ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ซึ่งในส่วนของการส่งออก จะทำควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีการจดทะเบียนคุ้มครอง GI ในต่างประเทศด้วย”นายวีรศักดิ์กล่าว
         


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 126 รายการ จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุดเป็นหอมแดงศรีสะเกษและกระเทียมศรีสะเกษ โดยมีมูลค่าทางการตลาดที่เกิดขึ้นกับชุมชนและท้องถิ่นกว่า 5,300 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้า วางแผนการผลิต การทำตลาด ที่สอดคล้องกับความต้องการ เพราะที่ผ่านมา เจอปัญหาสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค หลังจากที่กรมฯ ได้ลงพื้นที่พัฒนาและช่วยวางแผนทำตลาดทั้งการนำออกงานจำหน่าย นำไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้า จนมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากและสินค้าก็มีไม่เพียงพอ จึงต้องผลักดันให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น
         
ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะช่วยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้า GI การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการแนะนำสินค้า GI ที่มีศักยภาพ 3 ภาษา ซึ่งได้นำร่องไปแล้ว 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีน มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และทุเรียนป่าละอู และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในประเทศ เช่น การจัดให้มีมุมสินค้า GI ในท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ การนำเข้าร่วมงาน GI Market 2020 และงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อเปิดตัวสินค้า GI ออกสู่ตลาดต่างประเทศ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง