​“พาณิชย์”ย้ำการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA เพื่อใช้แปรรูปเท่านั้น ไม่มีการนำมาขายเป็นข้าวสาร

img

“พาณิชย์”ยืนยันการยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เพื่อนำมาแปรรูปเท่านั้น มิใช่นำมาขายเป็นข้าวสาร ขอให้พี่น้องเกษตรกรสบายใจ และมีขั้นตอนการกำกับดูแลชัดเจน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ไทยจะต้องเปิดตลาดนำเข้าข้าวตั้งแต่ปี 2553 ได้มีการประชุมเมื่อเดือนมิ.ย.2563 ที่ผ่านมา และได้พิจารณาแนวทางการเปิดตลาด และได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอน หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวดังกล่าว จะต้องนำมาแปรรูปในกิจการของตนเองเท่านั้น มิใช่อนุญาตให้นำข้าวสารเข้ามาขายต่อเป็นเมล็ดอย่างที่กังวล โดยการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ต้องได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฯ ก่อน จึงจะนำเข้าได้ และจะอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการสีข้าวของโรงสี เช่น นำมาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำแป้งข้าวเจ้า เป็นต้น



ขณะเดียวกัน ได้กำหนดช่วงเวลานำเข้าไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาที่ผลผลิตข้าวในประเทศออก ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ไม่ใช่ใครก็สามารถนำเข้าได้ รวมทั้งยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้งก่อนการนำเข้าและตรวจสอบว่านำเข้ามาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาตแปรรูปไว้อย่างเคร่งครัด และยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าว เช่น พ.ร.บ.กักพืช ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมศุลกากรจะเป็นผู้กำกับดูแลการนำเข้าข้าวอย่างเข้มงวด และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

“ขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความกังวลได้ เนื่องจากการนำเข้าข้าวดังกล่าว มีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน ไม่ใช่ใครก็นำเข้าได้ และไม่ใช่นำเข้าเป็นข้าวสารมาขายต่อ อย่างที่มีการเข้าใจผิดกันอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งการนำเข้า ก็มีกฎระเบียบ มีขั้นตอนการกำกับดูแลชัดเจน”นายกีรติกล่าว

ที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวของไทย เป็นการนำเข้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเก็บภาษีนำเข้าในโควตา 30% และนอกโควตา 52% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย เช่น ข้าวญี่ปุ่น (เมล็ดสั้น) ข้าวบาสมาติจากอินเดีย เพื่อใช้ในธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งการนำเข้าข้าวมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการค้าข้าวภายในประเทศ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง