​น้ำมันลด 11 ครั้ง โควิด-19 ทำบริโภคชะลอตัว ฉุดเงินเฟ้อมี.ค.63 ลด 0.54% ต่ำสุด 51 เดือน

img

“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.63 ลดลง 0.54% ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และต่ำสุดในรอบ 51 เดือน จากการลดลงของราคาน้ำมัน แค่เดือนเดียวลดถึง 11 ครั้ง และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการบริโภคลดลง แต่ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด ระบุได้ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็นติดลบ 0.2% ถึงลบ 1% ค่ากลางลบ 0.6% ชี้หากกรณีเลวร้ายลบ 1% จะเป็นการติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์
         
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อ เดือนมี.ค.2563 ลดลง 0.54% หรือติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 51 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.41% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและน้ำมันออก ลดลง 3.37% และเฉลี่ย 3 เดือน เพิ่มขึ้น 0.53%
         
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.2563 ลดลง มาจากการลดลงของกลุ่มน้ำมันต่ำสุดในรอบ 48 เดือน หรือลดลง 11.14% โดยราคาน้ำมันในเดือนนี้ ปรับตัวลดลงถึง 11 ครั้ง ส่วนกลุ่มอาหารสด แม้จะยังเพิ่มขึ้น 2.46% แต่ก็เป็นอัตราต่ำสุดในรอบปี เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบริโภคยังลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน
         
“เงินเฟ้อที่กลับมาติดลบ สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเรื่องน้ำมันที่ลดลงเยอะมาก เลยเป็นตัวฉุดเงินเฟ้อที่สำคัญ โดยสินค้ารายการอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้น และหากดูดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักน้ำมันและอาหารออก เงินเฟ้อก็ยังเป็นบวกอยู่ แต่ความต้องการสินค้า และกำลังซื้ออาจจะชะลอตัวบ้างในช่วงโควิด-19 และไม่ได้หดตัวมากขนาดที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
         
ทั้งนี้ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.58% มาจากการเพิ่มขึ้นของ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 7.68% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.78% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.53% ผลไม้สด เพิ่ม 2.25% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.76% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.30% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.76% นอกบ้าน เพิ่ม 0.41% ส่วนผักสด ลด 5.40% ยกเว้นมะนาวที่ราคาสูงขึ้น ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 1.74% จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 16.69% การสื่อสาร ลด 0.04% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.09% เคหสถาน เพิ่ม 0.09% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.36% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.47% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.02%
         
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดจีดีพีเป็นติดลบ 5.8% และหน่วยงานอื่นก็มีการปรับคาดการณ์จีดีพีเป็นติดลบเกือบ 6% จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยสนค. ได้ทำการทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ใหม่ เป็นขยายตัวติดลบ 0.2 ถึงลบ 1% โดยมีค่ากลางติดลบที่ 0.6% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้สมมุติฐาน คือ จีดีพีติดลบ 4.8-5.8% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ในกรณีเลวร้าย คือเงินเฟ้อติดลบ 1% จะถือเป็นการติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์
         
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง สนค.เห็นว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 เดือนแล้ว และน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ปรับลดราคาสินค้าและค่าขนส่งลงมา เพื่อดูแลผู้บริโภคและช่วยเหลือประชาชน เพราะตอนที่น้ำมันขึ้นราคา ก็มีการปรับขึ้นราคาในทันที แต่พอน้ำมันลด กลับไม่ยอมลดราคาลงตาม

>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
>>>ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง