“อภิรดี”สั่งเกาะติดสถานการณ์ชาติอาหรับแบนกาตาร์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ติดตามผลกระทบด้านการค้าของไทย เผยอัญมณี ผัก ผลไม้ ไม่กระทบ เหตุส่งทางเครื่องบิน แต่รถยนต์ แอร์ ตู้เย็น อาจได้รับผลกระทบ เพราะต้องผ่านแดนจากดูไบ ด้าน สนค. ประเมินราคาน้ำมันไม่น่ากระทบ เชื่อกาตาร์ยังร่วมมือจำกัดการผลิต คาดเศรษฐกิจกาตาร์มีแนวโน้มชะลอตัว และอาจจะกระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิตป์ และบาห์เรน ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ และปิดพรมแดนทั้งทางบก อากาศและเรือ โดยกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและอิหร่านว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยไปยังกาตาร์ แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อการค้าไทย
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ที่เมืองดูไบว่าการส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปยังกาตาร์จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากไทยไปกาตาร์ยังทำได้โดยสายการบิน Qatar Airway ที่บินตรงกรุงเทพฯ-กรุงโดฮา โดยสินค้าอัญมณี ผักและผลไม้ ที่ส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ
ขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นที่จะส่งมายังกาตาร์ ต่อไปจะต้องส่งตรงเข้า Doha Port แทนการส่งผ่านดูไบ ส่วนตัวเลขการค้าผ่านแดนจากดูไบไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผย ทำให้ยากที่จะระบุมูลค่าที่แน่นอนของการส่งออกของไทยผ่านดูไบไปกาตาร์ ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญลำดับที่ 3 ของไทยในกลุ่ม GCC รองจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์ ในช่วง 4 เดือนของปี 2560 ไทยส่งสินค้าตรงไปยังกาตาร์มูลค่า 102.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21.43% โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกประกอบด้วยอัญมณี มูลค่า 27.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์ 24.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องปรับอากาศ 16.2 ล้านเหรียญสหรัฐ อาหารทะเลกระป๋อง 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และตู้เย็น 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลกระทบในด้านเศรษฐกิจว่า ระยะสั้นราคาน้ำมันไม่มีผลกระทบมากนัก แม้จะมีความกังวลในประเด็นการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) แต่เนื่องจากกาตาร์มีสัดส่วนการผลิตเพียง 6.4 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือ 1.9% ของการผลิตน้ำมันรวมของโอเปก และตามข้อตกลงกาตาร์ต้องลดกำลังการผลิตลง 3 หมื่นบาร์เรลต่อวัน แต่ถ้าไม่ลด ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของตลาดน้ำมันโลก แต่ สนค. เชื่อว่ากาตาร์จะยังคงให้ความร่วมมือ เหมือนกรณีอิหร่านที่ยังให้ความร่วมมือกับโอเปก แม้จะมีความขัดแย้งกับซาอุดิอาระเบีย
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สนค. มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกาตาร์อาจจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านสายการบิน Qatar Airways ไม่สามารถให้บริการและบินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ทำให้รายได้ลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น 2.ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 40% ของอาหารที่นำเข้าต้องผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ต้นทุนของอาหารจะเพิ่มขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนได้ และ 3.รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจจะลดลง โดยกาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซ LNG รายใหญ่สุดของโลก (ประมาณ 30% ของการผลิตทั้งหมด) และตลาดส่งออกที่สำคัญ ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ และจอร์แดน ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของกาตาร์ อาจจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงได้
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง