
กรมการค้าภายในเอาจริง ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนกรณีคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และคิดค่ายาแพงเกินจริงแล้ว หากผิดจริง เจอโทษคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก่อนเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้ประชาชนตรวจสอบ เปรียบเทียบราคาของแต่ละโรงพยาบาลก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า กรมการค้าภายในได้ส่งเรื่องกรณีการคิดค่ารักษาพยาบาลและค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพงเกินจริงจำนวน 2 กรณี คือ การร้องเรียนการเข้ารับการรักษาพยาบาลอาการท้องเสียที่ถูกคิดค่าใช้จ่ายรวม 3 หมื่นบาท และการร้องเรียนเรื่องราคายาแพงเกินจริง ไปให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว หลังจากที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีการค้ากำไรเกินควร มีความผิดตามมาตรา 29 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยจะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กรณีค่ารักษาอาการท้องเสีย กรมการค้าภายในเห็นว่า เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้กรมการค้าภายในได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว
โดยในเบื้องต้น จะจัดทำฐานข้อมูลราคาของเวชภัณฑ์ ราว 3,000 รายการ และบริการทางการแพทย์ ประมาณ 5,000 รายการ ที่อยู่ในบัญชี UCEP ก่อน จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมเวชภัณฑ์และบริการทาการแพทย์ทั้งหมด คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน และเมื่อจัดทำเสร็จแล้ว จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ต่อไป
สำหรับประโยชน์จากการจัดทำบัญชีราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเทียบราคาของแต่ละโรพยาบาล และตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ และเมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว หากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้โรงพยาบาลตื่นตัว และแข่งขันกันให้บริการในราคาที่ถูกลง เพราะผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาได้แล้ว หากยังคิดราคาสูงอยู่ ก็อาจเสียลูกค้าได้ และยังจะทำให้ราคาเบี้ยประกันชีวิต และประกันภัยถูกลงด้วย ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาทำประกัน เพื่อความมั่นคงของชีวิตมากขึ้น และจะช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลรักษาพยาบาลของภาครัฐได้ด้วย
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง