​ส่งออกมี.ค.กลับมาลบ 4.88% เจอพิษเศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว สงครามการค้าฉุด

img

“พาณิชย์”เผยการส่งออกเดือน มี.ค. กลับมาติดลบอีกครั้ง 4.88% เจอพิษเศรษฐกิจโลก การค้าโลกชะลอตัว และสงครามการค้าฉุด แต่ยังดีที่ยอดส่งออกยังทำให้เฉลี่ยสูงถึง 2.1 หมื่นล้านเหรียญ ประเมินเป้าทั้งปี 8% คงทำได้ยาก เหตุต้องดันส่งออกให้ได้ถึงเดือนละ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อยังบวก 3-6% ได้ปัจจัยหนุนจากสงครามการค้ามีทิศทางคลี่คลาย ราคาน้ำมันเป็นขาขึ้น และสินค้าเกษตรส่งออกได้ดีขึ้น     
         
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมี.ค.2562 มีมูลค่า 21,440.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.88% เป็นการกลับมาขยายตัวติดลบอีกครั้ง หลังจากที่เดือนก.พ.2562 เพิ่งขยายตัวเป็นบวก 5.91% แต่ก็ถือว่ามูลค่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถประคับประคองให้อยู่ในระดับ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐได้ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,435.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.63% โดยเกินดุลการค้า 2,004.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกรวม 3 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.64% การนำเข้ามูลค่า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.20% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
         
“การส่งออกเดือนมี.ค.ที่กลับมาติดลบ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้กระทบกำลังซื้อทั่วโลก แม้แต่องค์การการค้าโลก (WTO) ก็ยังประเมินว่าการค้าชะลอตัวลงชัดเชน และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 16-17% ของการส่งออก ติดลบ 17.10% เฉพาะฮาร์ดดิสไดรฟ์ ลบมากถึง 30.19% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาว หากไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีของไทยล้าสมัย ตามโลกไม่ทัน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
         
สำหรับสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น น้ำตาลทราย ลด 23% ข้าว ลด 7.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 9.4% แต่ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 30% โดยเฉพาะตลาดจีนเพิ่มมากถึง 174.4% มีทุเรียนกับลำไยเป็นตัวหลัก ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 14.2% ส่งออกไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) ได้เพิ่มขึ้น ยางพารา กลับมาบวก 6.5% ในรอบ 16 เดือน ทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 6.4% ทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.2%
         
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 6% โดยสินค้าที่ลดลง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 20% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 11.3% แผงวงจรไฟฟ้า ลด 21.7% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลด 19.5% แต่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 5.6% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 20.7% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 14.8% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 20.6%
         
ด้านตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลัก เพิ่ม 1% โดยญี่ปุ่น เพิ่ม 7.4% สหรัฐฯ ลด 1.4% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 5% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.9% โดยอาเซียน 9 ประเทศ ลด 9% CLMV เพิ่ม 0.3% จีน ลด 9% อินเดีย เพิ่ม 9.1% ฮ่องกง ลด 14.2% เกาหลีใต้ ลด 13.1% ไต้หวัน ลด 14.9% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 5.5% โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 15% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 0.4% แอฟริกา ลด 3.6% ลาตินอเมริกา ลด 1.2% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) ลด 4.6% รัสเซียและ CIS ลด 8.5% แคนาดา เพิ่ม 10.2% ตลาดอื่นๆ เพิ่ม 19.3% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 26.3%
         
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังทำการทบทวนตัวเลขเป้าหมายส่งออกใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ โดยสนค. มองว่า เป้าหมายเดิม 8% คงยาก เพราะหากจะให้ได้เป้า 8% จากนี้ไปต้องส่งออกให้ได้ถึงเดือนละ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าส่งออกได้เฉลี่ย 2.1-2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ 3-6%
         
อย่างไรก็ตาม สนค.มองว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหากสงครามการค้าได้ข้อยุติในเดือนมิ.ย.2562 ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออก ไม่เพียงแต่ของไทย แต่ยังส่งผลกับอีกหลายประเทศ และปัจจุบันราคาน้ำมันเริ่มเป็นขาขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น รวมทั้งสินค้าเกษตรมีแนวโน้มส่งออกได้ดีขึ้น จากการที่หลายประเทศเจอภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง