​AFTA ดันการค้าไทย-อาเซียนปี 61 ทะลุ 1.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13%

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ดันมูลค่าการค้าไทย-อาเซียนปี 61 มูลค่าทะลุ 1.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เตรียมใช้โอกาสช่วงเป็นประธานอาเซียนผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ได้ช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการค้าทั้งปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 1.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 6.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 4.54 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนการค้ามากถึง 22.7% โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
         
โดยมูลค่าการค้าในปี 2561 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากการที่อาเซียนได้ร่วมกันผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการจะขยายการค้าการลงทุนจนเป็นผลสำเร็จ ได้แก่ 1.การส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน 2.การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เพื่อรองรับการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน 3.การจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนและปรับปรุงความตกลงการลงทุนของอาเซียน และ 4.การสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน
         
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA ของปี 2561 พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปอาเซียน 2.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 39.3% ของการส่งออกไปอาเซียน และนำเข้าโดยใช้สิทธิประโยชน์ 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 20.5% ของการนำเข้าจากอาเซียน โดยสินค้าส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์มากที่สุด เช่น รถบรรทุกขนาดไม่เกิน 5 ตัน น้ำมันปิโตรเลียม น้ำตาล รถยนต์ส่วนบุคคล เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง/เพดาน เป็นต้น และสินค้านำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์มากที่สุด เช่น ส่วนประกอบยานยนต์ รถยนต์ขนส่งบุคคล มอนิเตอร์ โปรเจ็คเตอร์ ลวด เคเบิล มันสำปะหลัง เป็นต้น  
         
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 จะเร่งผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ 1.การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการทำงานด้านดิจิทัลและด้านนวัตกรรมของอาเซียน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมการดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาต่างๆ ให้สามารถปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยี 2.ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 3.การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น โดยประเด็นเหล่านี้จะสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสอดรับกับความต้องการของอาเซียนและภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจ

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit  
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง