​ศูนย์กลางการค้าอัญมณีโลก

img

กระทรวงพาณิชย์” ได้ตั้งเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก” และที่ผ่านมา พยายาม “เดินไปสู่เป้าหมาย” มาโดยตลอด
         
จะว่าไป ทุกวันนี้ ใครที่ “อยากจะซื้อ” อัญมณีและเครื่องประดับ หนึ่งในประเทศที่ถูกนึกถึง ก็คือ “ไทย”  
         
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น “ผู้ผลิต” และ “ส่งออก” สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับที่ 14 ของโลก และเป็น “ผู้ส่งออกพลอยสี” อันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และฮ่องกง  
         
จากขีดความสามารถดังกล่าว ทำให้ทุกวันนี้ “สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ” สามารถทำมูลค่า “การส่งออก” ได้สูงสุด “เป็นอันดับ 3” ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย
         
เมื่อรวมกับ “มูลค่าการค้าภายในประเทศ” จะมีเม็ดเงินใน “ระบบเศรษฐกิจ” ของประเทศถึงปีละ “เกือบ 1 ล้านล้านบาท” หรือประมาณ 5.5% ของจีดีพี แบ่งเป็นการส่งออก 4 แสนล้าน การบริโภคในประเทศประมาณ 6 แสนล้าน

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิด “การจ้างแรงงาน” กว่า 8 แสนคนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดย 78% อยู่ในวงการค้าส่งค้าปลีก และ 20% เป็นนักออกแบบ ช่างฝีมือและเจียระไน รวมทั้งคนทำงานในเหมือง

ก็อย่างที่บอก กระทรวงพาณิชย์พยายามเดินหน้าสู่เป้าหมาย และทุกวันนี้ ก็ยังเดินหน้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็น “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ที่ขับเคลื่อนและผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่ หรือ “สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT” ที่ขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด GIT ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์การทำงาน” เพื่อผลักดันให้ไทยไปสู่เป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่



1.ยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองอัญมณีและเครื่องประดับและโลหะมีค่าสู่สากล โดยผลักดันการใช้ และอ้างอิงมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจัดทำมาตรฐาน GIT Standard สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจสอบ (ห้องแล็บ) ให้มีมาตรฐานการตรวจสอบเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ใช้มาตรฐาน GIT Standard แล้ว 10 ห้องปฏิบัติการ

2.ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยผลงานวิจัยที่โดดเด่น เช่น ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก (แฟนซีแซปไฟร์) , กระบวนการพัฒนาสีพลอยทัวร์มาลีนโดยเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ , การส่งเสริมการนำมาตรฐานห้องปฏิบัติการไปทดสอบผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ , การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการประเมินคาร์บอนฟุตปริ้น และการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพทองคำ 96.5%  

3.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง การสร้างแบรนด์ โดยสอนตั้งแต่ระดับช่างฝีมือ พนักงานขาย ไปจนถึงผู้ประกอบการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ นักออกแบบ สตาร์ตอัป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นต้น
           
4.การเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับหลักของประเทศ โดยมุ่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ จัดทำข้อมูลเชิงลึกและบทวิเคราะห์ด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่ครอบคลุมหลากหลายตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับสู่การเป็นคลังความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงการสร้างศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเอง (พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่ครบวงจร) ให้ตอบโจทย์กับคนในยุคปัจจุบัน

5.การพัฒนาสู่องค์กรดิจิทัลที่มีสมรรถนะสูงและเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพขององค์กรไปสู่ระดับสากล โดยการยกระดับการดำเนินการและการให้บริการด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม ต่อยอดและพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อยกระดับการบริการผู้ประกอบการและประชาชน เช่น เพิ่มศักยภาพกระบวนวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ พัฒนาปรับปรุงบริการลูกค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาระบบการให้บริการข้อมูลสาธารณะเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ



นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ข้อ GIT ไม่ได้เดินเพียงลำพัง แต่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ การพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาอุตสาหกรรม การยกระดับมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่นยืนให้กับอุตสาหกรรม และทำให้เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกประสบความสำเร็จได้

ไม่เพียงแค่นั้น ยังจะขับเคลื่อนด้านการตลาดอย่างเข้มข้น ด้วยการร่วมมือกับ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” จัดงาน “แสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ” และจัดงาน “เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5

ผู้เขียนมองว่า แผนงานที่ว่ามาทั้งหมด จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน

ก็อยากจะฝากถึงภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่าลืมให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพ มาตรฐานในทุกขั้นตอนการผลิต 

เพราะโลกทุกวันนี้ “การค้ายุคใหม่” ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม การรู้ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ การไม่ใช้แรงงานทาส การไม่ค้ามนุษย์ และการปฏิบัติตามมาตรฐานต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญกับอุตสาหกรรมนี้

พลาดตรงไหน พลาดเมื่อไร มีโอกาสไปไม่ถึงเป้า  

แต่หาก “ร่วมมือกัน” การเป็น “ศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

คงไม่ใช่เรื่องที่ “ไกลเกินจริง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง