​“พาณิชย์”เอาจริงฟันนอมินี

img

สัปดาห์ก่อน “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” ได้ให้ข่าวถึง “ความคืบหน้า” การแก้ไขปัญหา “คนต่างชาติ” ใช้ “คนไทย” ถือหุ้นแทน (นอมินี) เพื่อ “หลบเลี่ยง” และเข้ามา “ทำธุรกิจ” ที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 โดยไม่ขออนุญาต
         
ปลัดพาณิชย์ ทั้งย้ำ ทั้งยืนยัน “ใครช่วยเหลือคนต่างชาติ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายเข้ามาทำธุรกิจ” อย่าคิดว่า “จะรอด” เพราะกระทรวงพาณิชย์ “เอาจริง” และ “ตรวจสอบ” จริง
         
และยังมีคำสั่งไปยัง “สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ” และ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ให้ตรวจสอบการจดทะเบียน “บริษัท-ห้างร้าน” อย่างเข้มงวด
         
ขอให้ตรวจ “ข้อมูลการจดทะเบียน” และให้สังเกตพฤติกรรมของ “ผู้ยื่นจดทะเบียน” ด้วยว่า มี “ความน่าเชื่อถือ”  และ “สอดคล้อง” กับ “เงินทุน” ที่ยื่นขอจดทะเบียนหรือไม่ เพื่อไม่ให้คนต่างชาติเข้ามา “ฉวยโอกาส” ทำธุรกิจของคนไทย และทำให้ “ธุรกิจของคนไทย” ได้รับผลกระทบ
         
พร้อมยืนยัน ที่ “เข้มงวด” ไม่ใช่ เพิ่งจะมาเข้มงวดเอาตอนนี้ โดยเข้มงวดมานานหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้ “การท่องเที่ยว” ฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ นอมินีก็มักจะมาพร้อมกับการท่องเที่ยว ก็เลยต้องตรวจให้หนักกว่าเดิม และจะไม่ตรวจแค่ “เมืองใหญ่” หรือ “เมืองท่องเที่ยว” แต่จะตรวจ “ทุกจังหวัด” ลงลึกถึง “เมืองรอง” ด้วย
         
สำหรับการตรวจสอบ “ทุนจีนสีเทา” ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ตามที่ “เป็นข่าว” ทั้ง “ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม รถเช่า ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจนวด สปา” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในย่านสำคัญ ๆ เยาวราช สัมพันธวงศ์ รัชดาภิเษก ห้วยขวาง
         
ล่าสุด “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ได้เข้าไปตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการท่องเที่ยว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมที่ดิน กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวแล้ว
         


ตรวจไปแล้วประมาณ 200 บริษัท พบว่า “บางบริษัท” มีความเสี่ยงที่จะเป็น “นอมินี” จริง จึงได้ขอให้บริษัทที่สงสัยส่งเอกสารหลักฐานมาให้ตรวจสอบเพิ่มเติม ขีดเส้นให้ 15 วัน
         
จากนั้นจะตรวจสอบอีกครั้ง ถ้าพบว่าเข้าข่ายนอมินี ก็จะส่ง “ดีเอสไอ” ตรวจสอบเชิงลึกต่อไป
         
ส่วนแผนทำงานในปี 2565 “นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ในฐานะมือปราบนอมินีของกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า มีเป้าหมาย “ตรวจสอบ” ใน 3 กลุ่มธุรกิจเสี่ยง คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง , ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และถือครองอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต
         
เป้าหมายรวม 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ
         
เฉพาะในกรุงเทพฯ นายจิตรกร ย้ำว่า จะเน้น “ตรวจสอบ” ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก โรงแรมที่พัก ในย่านที่เป็นประเด็นเรื่องกลุ่มทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจเป็นพิเศษ
         
โดย “ขั้นตอนการตรวจสอบ” ได้กำหนด “แนวทางการป้องกัน” ธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ทั้ง “ก่อน” และ “หลัง” การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล
         
ก่อนจดทะเบียน” กำหนดให้ส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรอง หรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนเองได้

หลังจดทะเบียน” จะจัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดเป็นแผนงานโครงการประจำปี เพื่อตรวจสอบเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร



สำหรับ “ผลการตรวจสอบนอมินี” ที่ผ่านมา ซึ่งทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2558-2565 โดยปี 2564 พบพฤติกรรมที่อาจเข้าเป็นความผิดนอมินี มากสุดถึง 145 ราย เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 44 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเกี่ยวเนื่อง 89 ราย ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท 3 ราย ธุรกิจบริการ 9 ราย ส่วนปี 2558 เข้าข่าย 13 ราย , ปี 2559 เข้าข่าย 15 ราย , ปี 2560 เข้าข่าย 4 ราย , ปี 2561 เข้าข่าย 2 ราย , ปี 2562 เข้าข่าย 4 ราย , ปี 2563 เข้าข่าย 5 ราย และปี 2565 เข้าข่าย 3 ราย ซึ่ง “ทั้งหมด” ได้ส่งให้ “ดีเอสไอ” ตรวจสอบเชิงลึกไปแล้ว และได้ “ดำเนินคดี” ความผิดเกี่ยวกับนอมินีแล้วรวม 66 ราย 

โดย “โทษ” สำหรับการเป็นนอมินี จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน และกรรมการบริษัท ก็มีความผิดด้วย
         
เป็น “คำยืนยัน” จากกระทรวงพาณิชย์ ทั้งในระดับ “นโยบาย” และระดับ “ปฏิบัติ” ที่จะ “เอาจริง” กับพวกที่ยอมเป็นนอมินี หวังแค่เศษเงินและผลตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ กับการ “เปิดประตู” ให้คนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจที่สงวนไว้ให้กับคนไทย
         
อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงพาณิชย์ จะ “มุ่งมั่น” ในการ “จัดการ” กับปัญหานอมินี แต่ก็จัดการได้เฉพาะการตรวจสอบการเป็นนอมินีผ่านการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเท่านั้น

เพราะใน “ความเป็นจริง” มีคนต่างชาติ ที่อาศัย “ช่องโหว่-ช่องว่าง” แอบเข้ามาทำธุรกิจในไทย แบบที่ “ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท” ก็มาก

ปัญหานี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะต้องลุยด้วย ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการด้วย

ถึงจะ “จัดการ” ได้อยู่หมัด
         
ไม่เช่นนั้น ต่างชาติในร่างนอมินี หรือต่างชาติในร่างต่างชาติจริง ๆ  

ก็คง “เข้ามา” ทำธุรกิจที่ “สงวนไว้ให้คนไทย” ได้ “เกลื่อนเมือง” เหมือนเดิม
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด