​ซอฟต์ พาวเวอร์ไทยโดดเด่นเวทีเอเปก

img

จบไปแล้วสำหรับการเป็น “เจ้าภาพ” จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปก รัฐมนตรีเอเปก จนถึงผู้นำเอเปก และการประชุมที่เกี่ยวข้องของไทย
         
พูดได้ว่า “จบสวย” และเป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่ตั้งไว้

สรุป “สาระทางการ” ที่ไทยสามารถ “ผลักดัน” ให้สำเร็จได้ เอาแบบสั้น ๆ คือ สามารถขับเคลื่อน “Bangkok Goals on BCG Model” หรือที่เรียกว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

เรื่องนี้ จะเป็น “พื้นฐาน” สำคัญของเอเปกในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” อธิบายไว้ว่า จะเป็นเรื่องของการใช้เศรษฐกิจพื้นฐานที่ใช้ออร์แกนิก ให้ความสำคัญการผลิต การแปรรูป การตลาด ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

“เรื่องนี้ทุกเขตเศรษฐกิจจะพุ่งเป้าไปตรงนี้ เพื่อเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนของโลก การค้าและเศรษฐกิจในยุคถัดจากนี้ไป จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นเศรษฐกิจการค้าที่เอารัดเอาเปรียบกันสำหรับประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ รวมทั้งการกำหนดกติกาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบบ้าง เสียเปรียบบ้าง จากนี้จะมุ่งเน้นการค้าแบบยั่งยืน”

อีกเรื่องที่ “สำเร็จ” ไม่แพ้กัน ก็คือ การขับเคลื่อน “ความร่วมมือเอเปก” ให้พัฒนาไปเป็น “เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)” ขึ้นในอนาคต

นายจุรินทร์ บอกว่า ถ้าทำสำเร็จ จะมี FTA ที่ “ใหญ่ที่สุด” ในโลกเกิดขึ้น และจะแทนที่ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” ที่เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้  



ส่วน “ประเด็นอื่น ๆ” ภายใต้หัวข้อ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance. ที่เป็นธีมของไทยในฐานะเจ้าภาพ ก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกจะเปิดกว้างด้านการค้า การลงทุน เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่การผลิตทำงานได้ , จะขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจเอเปกไปสู่การจัดตั้ง FTAAP , จะสนับสนุนการค้าระบบพหุภาคี โดยองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง , จะเพิ่มขีดความสามารถบริการของเอเปก ด้านการท่องเที่ยว ขนส่ง และโลจิสติกส์ , จะผลักดันและเปิดโอกาสให้สตรี Micro SMEs และกลุ่มเปาะบาง ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์จาก Digital Economy มากขึ้น และจะสนับสนุนแนวคิดการค้าสู่ความยั่งยืน ทั้งสินค้าและบริการ  

สาระสำคัญทั้งหมดนี้ สามารถออกเป็น “แถลงการณ์ร่วม” ทั้งในระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำ ถือเป็น “ความสำเร็จ” ที่เป็น “ฉันทามติ” ของทุกเขตเศรษฐกิจ ทำให้ภาพลักษณ์การประชุมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นเนื้อเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ที่ “โดดเด่น” และเรียกเสียง “ฮือฮา” ไม่แพ้กัน ก็คือ การนำเสนอ “ซอฟต์ พาวเวอร์” ของไทย

ที่ “เด่นชัด” ที่สุด ก็คือ “อาหารไทย” ที่ถูก “พูดถึง” เป็นอย่างมาก และได้รับ “เสียงชม” ไม่เว้นกระทำผู้นำอย่างสิงคโปร์ ที่ถึงกับ “โพสต์” ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวกันเลยทีเดียว

อาหารไทยที่ได้รับการ “คัดสรร” ให้ “ขึ้นโต๊ะ” ผู้นำในครั้งนี้ ได้คัด “วัตถุดิบ” ที่ “ดีที่สุด” จากทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ไข่ปลาสเตอร์เจียนโครงการหลวงดอยอินทนนท์ กุ้งแม่น้ำอยุธยา ไก่เบตง เนื้อวากิวโคราช กุ้งมังกร 7 สี ไข่เป็ดไล่ทุ่งสุพรรณบุรี ดอกเกลือเมืองเพชร เนื้อโคขุนโพนยางคำ ปลากุเลาตากใบ ปลาเก๋ามุก และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น



ในจำนวนวัตถุดิบเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)” ถึง 7 รายการ ได้แก่ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ของจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม “เนื้อโคขุนโพนยางคำ” จังหวัดสกลนคร “ปลากุเลาเค็มตากใบ” จังหวัดนราธิวาส “ไวน์เขาใหญ่” จังหวัดนครราชสีมา “ส้มโอนครชัยศรี” จังหวัดนครปฐม “ไข่เค็มไชยา” จังหวัดสุราษฎร์ธานี และว่าที่สินค้า GI “กล้วยหอมทองพบพระ” จังหวัดตาก และอีก 1 รายการ คือ “ผ้าไหมปักธงชัย” จังหวัดนครราชสีมา ถูกนำมาทอเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำเอเปก เช่น เนคไท ผ้าคลุมไหล่

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ นอกจากสาระสำคัญที่สามารถ “ผลักดัน” ให้สำเร็จได้แล้ว ยังได้ “ประโยชน์ทางอ้อม” จากการผลักดัน “ซอฟต์ พาวเวอร์” ของไทย ผ่านการจัดงาน “เลี้ยงอาหาร” และยังมีการแสดง “วัฒนธรรม” ผ่าน “โขน-หุ่นกระบอกเล็ก” และอี่น ๆ

นอกจากนี้ ยังทำให้วัฒนธรรมไทย สถานที่ท่องเที่ยวของไทย ทั้ง “มวยไทย-ถนนข้าวสาร-วัดโพธิ์” เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น

ทำให้จบการเป็น “เจ้าภาพ” ไปแบบปัง ๆ

ก่อนส่ง “ไม้ต่อ” ให้กับ “สหรัฐฯ” ที่จะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด