​การดูแลสินค้าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

img

เสียงคนบ่น “ของแพง” ก็ยังได้ยินอย่างต่อเนื่อง
         
แต่หากดูลึกลงไป พบว่า ที่แพงหนัก ๆ จนทำให้ “เงินเฟ้อ” ปรับเพิ่มขึ้น มาจาก “ราคาน้ำมัน” ที่สูงขึ้นเป็นตัวหลัก
         
แล้วยังมี “ค่าไฟฟ้า” แพง และ “ก๊าซหุงต้ม” แพง
         
ก็เลยยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า “ค่าครองชีพ” เพิ่มสูงขึ้น
         
ส่วน “สถานการณ์ราคาสินค้า” ก็ต้อง “ยอมรับ” มีหลายตัวที่ “แพงขึ้น” จริง อย่างสินค้าเกษตรช่วงก่อนหน้านี้ เช่น “เนื้อหมู-ไข่ไก่” แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์เริ่ม “นิ่ง” และ “ทรงตัว” แล้ว และสินค้าเกษตรบางรายการ มีแนวโน้ม “ลดลง” ด้วย
         
ขณะที่ “สินค้าอุปโภคบริโภค” ส่วนใหญ่ “ยังตรึงราคา” เอาไว้ได้
         
ที่มีข่าวออกสื่อ “จะขึ้นวันนั้น จะขึ้นวันนี้” ความจริง “กรมการค้าภายใน” ยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ “ปรับขึ้นราคา” แต่อย่างใด
         
แล้วที่อนุมัติให้ “ขึ้นราคา” อย่างเป็นทางการ ตอนนี้มีรายการเดียว คือ “ปุ๋ยเคมี” เพราะต้นทุนนำเข้าแม่ปุ๋ย “เพิ่มขึ้น” จริง และเพิ่มขึ้น “หนักมาก” ถ้าไม่ให้ขึ้น อาจจะเจอ “ปัญหาใหญ่” คือ ปุ๋ยขาดแคลนเกิดขึ้นได้
         
ทั้งนี้ มีตัวเลขล่าสุดยืนยัน ราคาปุ๋ยโลกตั้งแต่มีวิกฤต ราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 236% แต่ราคาปุ๋ยในไทยเพิ่มขึ้นน้อยกว่าแค่ 130%
         
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาปุ๋ยจะ “ขึ้นแล้วขึ้นเลย” ต่อไป “วัตถุดิบ” ราคาลดลง ราคาปุ๋ยก็จะต้อง “ปรับลด” ลงตาม
         
เป็น “หลักการ” ที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” มอบนโยบายเอาไว้
         
กลับมาที่ประเด็น “การปรับขึ้นราคาสินค้า” มีข้อมูลว่า ตั้งแต่ธ.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตได้ยื่น “ขอปรับ” ขึ้นราคาสินค้ากับ “กรมการค้าภายใน” รวม 127 ครั้ง 11 หมวด 61 บริษัท 116 ยี่ห้อ สินค้า 936 รายการ



มีสินค้าสำคัญ ๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม ผงซักฟอก ผ้าอนามัย น้ำยาล้างจานและอื่น ๆ
         
สินค้าเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ต้อง “จับตา” ว่าจะมีการ “ปรับขึ้นราคา” หรือไม่ หรือ “ปรับขึ้น” เมื่อใด และเท่าใด
         
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” ยอมรับว่า ช่วงนี้ เป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” เพราะ “ต้นทุนสินค้า” เพิ่มขึ้นจริง เพิ่มทั้งต้นทุนจาก “น้ำมัน-ค่าขนส่ง-ค่าไฟฟ้า-วัตถุดิบ” และมีผู้ผลิต ยื่นขอปรับราคาเข้ามาจริง
         
แต่ไม่ได้หมายความว่า สินค้าที่มีการ “ยื่นขอปรับราคา” ได้มีการ “ขึ้นราคา” ไปแล้ว เพราะทุกรายการยังไม่ได้อนุมัติ “ให้ขึ้น” ตอนนี้อยู่ระหว่างการ “วิเคราะห์ต้นทุน
         
โดยมี “หลัก” ในการพิจารณาให้ “สินค้าปรับขึ้นราคา” ตามนโยบาย “วิน-วิน โมเดล” ที่นายจุรินทร์กำหนดไว้ ซึ่งจะต้อง “ดูแล” 3 ฝ่าย ให้อยู่ร่วมกันได้ ทั้ง “เกษตรกร-ผู้ผลิต-ผู้บริโภค

ถ้าต้องมี “ผลกระทบ” ก็ต้อง “ร่วมกัน” รับภาระ ไม่ใช่โยนให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับเพียว ๆ หรือรับทั้งหมด

ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณา หาก “สินค้าใด” มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจริง ก็จะพิจารณาตามจริง ถ้ายังมี “กำไร” และไม่กระทบต่อการผลิต ก็จะขอความร่วมมือให้ “ตรึงราคา” ไปก่อน

หาก “ไม่ไหว” จริง ๆ ก็จะพิจารณาให้ “ปรับขึ้น” ได้ แต่การปรับขึ้น ไม่ใช่ให้ขึ้นทั้งหมวด หรือขึ้นทั้งกลุ่ม จะพิจารณาเป็น “รายการสินค้า” และ “รายชนิด” เพราะแต่ละชนิดต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน และสุดท้าย ต้อง “กระทบ” ผู้บริโภคน้อยที่สุด

สำหรับสินค้าที่มี “ความเสี่ยง” จะต้องปรับขึ้นราคาอย่าง “นมและผลิตภัณฑ์นม” นายวัฒนศักย์ บอกว่า ได้ทำการวิเคราะห์ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่ “มิลค์บอร์ด” อนุมัติให้ปรับราคา “รับซื้อน้ำนมดิบ” แล้ว เป็นการเตรียม “ความพร้อม” เอาไว้ล่วงหน้า เพราะสุดท้ายต้องรอให้ ครม. มีมติออกมาก่อน



หลักในการปรับขึ้นราคา ก็ง่าย ๆ จะพิจารณา “ตามจริง” และพิจารณาเป็น “รายสินค้า รายชนิด รายยี่ห้อ” เพราะ “นม” แต่ละชนิด ใช้วัตถุดิบต่างกัน บางชนิดใช้นมสดมาก บางชนิดใช้นมสดน้อย บางชนิดใช้นมผงมาก ต้นทุนจึงไม่เท่ากัน

การให้ปรับขึ้นราคา ก็ต้อง “ไม่เท่ากัน” แต่ถ้าพิจารณาแล้ว “ต้นทุนโดยรวม” ไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ก็อาจจะ “ไม่ให้ปรับขึ้นราคา” ก็ได้

สินค้าอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการยื่น “ขอปรับราคา” ก็จะใช้หลักการเดียวกันนี้  

อย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่ได้รับการอนุมัติให้ “ปรับราคา” แล้ว ต่อไป “ต้นทุน” ลดลง ก็จะขอให้ผู้ผลิต “ลดราคา” ลงตามด้วย

เหมือนที่ทำสำเร็จกับ “น้ำมันปาล์มขวด” ที่ขณะนี้ ราคา “ปรับลดลง” ต่อเนื่อง ตามต้นทุนที่ลดลง

ที่ผ่านมา แม้ “กรมการค้าภายใน” จะอีรุงตุงนังกับการพิจารณาเรื่องการขออนุมัติปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ก็ “ไม่ทิ้ง” ภารกิจในการดูแล “ค่าครองชีพ” ให้กับคนไทยทั้งประเทศ
         
ล่าสุด กำลังจะเปิดตัวโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot 20” ตามที่ได้รับนโยบายมาจากนายจุรินทร์
         
รอบนี้ จะจัดเป็น “คาราวานสินค้าราคาถูก” ไปจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศ
         
มีสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู เป็นต้น
         
เห็นว่า นายจุรินทร์จะ “คิกออฟ” เปิดตัวโครงการภายในสัปดาห์นี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด
         
และทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์ราคาสินค้า มาตรการดูแลราคาสินค้า และมาตรการดูแลค่าครองชีพ

ที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุด  
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด