ทางออกเบรกอาหารแพง

img

เสียงคนบ่น “แพงทั้งแผ่นดิน” เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่ใช่แพงแค่อย่างสองอย่าง แต่แพงขึ้นหลายอย่าง
         
เริ่มต้นปีมา “หมูแพง” ที่วันนี้ยังแพงต่อเนื่อง ราคาทะลุกิโลกรัมละ 200 บาทไปแล้ว
         
กระทบกันต่อเนื่อง “อาหารตามสั่ง อาหารปรุงสำเร็จ” ขึ้นราคากันเป็นว่าเล่น
         
ไม่ใช่ขึ้นบาท 2 บาท บางเจ้าขึ้น 5 บาท แต่บางเจ้าจัดหนักหน่อย ขึ้นไปเลย 10 บาท
         
กับข้าวที่ใช้หมูทำ ขึ้น 10-30 บาท
         
เห็นแล้ว “อาการหนัก”  
         
แล้ววันนี้ ยังแก้เรื่อง “หมูแพง” กันไม่ได้
         
จะว่า “กระทรวงพาณิชย์” อย่างเดียว ก็ไม่เป็นธรรมนัก เพราะเป็นปลายทาง ที่ผ่านมา ได้พยายามแทรกแซงตลาดด้วยการขายหมูราคาถูกกิโลกรัมละ 150 บาททั่วประเทศ 667 จุด

แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเนื้อหมูในระบบมันยังขาด แม้จะใช้ไม้แข็งห้าม “ส่งออกหมูเป็น” ก็ทำให้มีหมูกลับเข้ามาสู่ระบบอีกแค่ 1 ล้านตัว

เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ปี 2564 มีหมู 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออก 1 ล้านตัว แต่ปี 2565 คิดจากความต้องการเดิม 19 ล้านตัว ต้องการบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว แต่มีหมูจริง 13 ล้านตัว หายไป 5 ล้านตัว ดึงจากที่ห้ามส่งออกมา 1 ล้านตัว ก็ยังขาด
         
ตอนนี้ “กรมปศุสัตว์” กำลังแก้ไขปัญหาในภาพรวมอยู่ แต่น่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ที่จะมีหมูเข้ามาสู่ระบบเพิ่มขึ้น แต่พอมาเจอโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ปัญหาก็ยิ่งยืดออกไป
         
ยังหาทางสว่างไม่เจอ
         
ส่วน “ไข่ไก่” หลังผู้เลี้ยงประกาศขึ้นราคา กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามทันควัน “ห้ามขึ้น” ให้มาคุยกันก่อน
         
สุดท้ายคุยจบ ตรึงราคาไข่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.90 บาท จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
         
ก็จบเรื่องไข่ไก่ไปได้
         
แต่ “เนื้อไก่” ที่พอคนหันมากินเยอะ ๆ ก็ใช้โอกาสนี้ปรับขึ้นราคา แม้กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือให้ตรึงยาว 6 เดือน แต่ก็มีบางราย “แหกคอก” ไม่ยอมทำตาม
         


วันนี้ ราคาก็มีทั้งขึ้น ทั้งทรงตัว ก็ต้องมากล่อมกันอีกที เพื่อหาข้อยุติ ก็ต้องดูว่าจะจบสวยหรือไม่สวย
         
เป็นอีกตัว ที่ยังต้องลุ้น
         
ล่าสุด “น้ำมันปาล์ม” ปรับขึ้นราคาอีก เพราะต้นทุนปาล์มดิบทะลุกิโลกรัมละ 10-11 บาทไปแล้ว
         
ขายกันขวดลิตรละ 55-57 บาท มีแววทะลุ 60 บาทในไม่ช้านี้
         
ทำเอา “พ่อค้าแม่ค้า” ต้องปรับขึ้นราคาตาม อะไรที่ใช้น้ำมันทอด ก็ขึ้นกันหมด ทั้งอาหาร ทั้งขนม  
         
คนที่เดือดร้อนสุด หาใช่ใครที่ไหน ก็ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ
         
ก็ไม่รู้ว่าจะต้อง “ตกใจ” กับราคาตอนเช็กบิลกันอีกนานแค่ไหน
         
ส่วนการแก้ไขปัญหา กระทรวงพาณิชย์ได้พยายามขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตตรึงราคา เพราะผลปาล์มดิบฤดูกาลใหม่กำลังจะออกมา ก็อีกไม่กี่วันนี้ หวังว่า ตอนนั้นอะไร ๆ คงจะดีขึ้น
         
อย่างไรก็ตาม แม้จะเจอสถานการณ์ของแพง แต่ที่ดูดีหน่อย ก็ “มาม่า” ยอมตรึงราคาสินค้ากลุ่มมวลชน ก็ซอง 6 บาท ที่เป็นที่นิยมนั่นแหละ
         
ประกาศ “ไม่ขึ้นราคา” แม้ต้นทุนวัตถุดิบ ทั้ง “น้ำมันปาล์ม แป้งข้าวสาลี” จะเพิ่มขึ้น
         
ถือเป็นข่าวดีต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่ก็มีฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น ออกมาแซะ ออกมากระแนะกระแหน ทำได้แค่ตรึงมาม่า แต่สินค้าอื่นตรึงไม่ได้
         
ก็อยากจะถามกลับเหมือนกัน ถ้ามาม่าประกาศขึ้นราคา อะไรจะเกิดขึ้น  
         
คงรุมถล่มทั้งรัฐบาล ทั้งกระทรวงพาณิชย์กันจมดิน ว่า “สินค้าคนจน” ยังปล่อยให้ขึ้น คนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ 
         
เรื่องนี้ก็ว่ากันไป แล้วแต่มุมมอง แต่ “ไม่ขึ้น” นะดีสุดแล้ว  
         
นอกจากนี้ ล่าสุด มีเรื่องที่ “น่ากังวล” และ “น่าเป็นห่วง” โดยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ออกมาตะโกนดัง ๆ ถึงรัฐบาล ต้นทุน "การผลิตอาหาร" จะเพิ่มขึ้น 10-20% ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า
         
ส่งสัญญาณ “เตือน” กันล่วงหน้า ถ้าไม่ช่วยอะไร “ผีอีแพง” ตามมาหลอนอีกแน่
         
เอกชนบอกว่า ถูกขอความร่วมมือตรึงราคามาตลอดปี 2564 ซึ่งได้ให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะยังบริหารจัดการต้นทุนได้
         


แต่ตอนนี้ “ไม่ไหวแล้ว” ต้นทุนทุกอย่างขึ้นหมด ไม่ว่าจะเป็น “หมู ไก่ ผัก ผลไม้ อาหารทะเล” ที่เป็นวัตถุดิบของอาหารสำเร็จรูปอีกหลายชนิด

หรือ "ปุ๋ยเคมี" ที่เป็นต้นทุนของการเพาะปลูก "อาหารสัตว์" ที่เป็นต้นทุนของการเลี้ยงสัตว์ ที่ขึ้นแบบไม่รู้จุดจบ

ยังไม่รวมต้นทุน “น้ำมัน” ที่ขึ้นต่อเนื่อง และ “ค่าไฟฟ้า” ที่กำลังจะขึ้น
         
แนวทางแก้ไข เอกชนขอไม่มาก แล้วทั้งหมดเป็นเรื่องที่ภาครัฐ “ให้ได้” เว้นแต่ “ไม่อยากให้
         
อย่างเรื่องช่วยออกกฎ แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค พวกนี้ทำได้ทันที “พาณิชย์-คลัง-อุตสาหกรรม-กระทรวงที่เกี่ยวข้อง” ใครเกี่ยวตรงไหน แก้ได้ ก็แก้ไปเลย
         
การดูแล “ราคาน้ำมัน” อย่างจริงจัง ก็ทำได้ทันที หรือ “การชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า” ก็ทำได้ทันที อยู่ที่จะทำหรือไม่
         
การยกเว้น ยกเลิก ไม่เก็บภาษีนำเข้า “สินค้าที่เป็นวัตถุดิบ” พวกนี้ ก็ทำได้ทันที
         
ที่เอกชนเรียกร้องมาก ๆ ก็มีไม่กี่ตัว เช่น ลดภาษีนำเข้า “วัตถุดิบอาหารสัตว์” การไม่เก็บอากรเอดี “ฟิล์มบีโอพีพี” ที่เป็นต้นทุนในการผลิตบรรจุภัณฑ์ การต่ออายุไม่เก็บเอดี “สินค้าทินฟรี ทินเพลต” ที่เป็นวัตถุดิบทำกระป๋อง   
         
หรือตัวที่กำลังพิจารณาอยู่อย่าง “ภาษีความเค็ม” ถ้าไม่เก็บได้ก็ดี แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บ ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสม
         
ไม่เช่นนั้น กระเทือนหนักหลายกลุ่ม ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จแบบ Shelf Stable ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว 
         
นอกจากนี้ เอกชนยังฝากถึง “กรมการค้าภายใน” อย่า “ตั้งธง” แค่เบรกไม่ให้ขึ้นราคา เพราะที่ขอปรับราคา เนื่องจากแบกต้นทุนไม่ไหวจริง ๆ ถ้าไม่ให้ขึ้น สินค้าขาดหายไปจากตลาด เดี๋ยวจะเดือดร้อนหนักกว่านี้
         
ส่วนการปรับขึ้นราคา ก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน “เข้าใจ” และ “เตรียมรับมือ” เพราะปัจจุบันความรุนแรงของ “เงินเฟ้อ” ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ที่ไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก

การแก้ “อาหารแพง” คงทำไม่ได้ง่าย ๆ ในวันเดียว
         
แต่สิ่งที่ทำได้ทันที คือ อะไรที่เป็น “ต้นทุน” ถ้าช่วยลดได้ ก็ลด ๆ ไปเถอะ
         
ลดให้ผู้ประกอบการเขาได้หายใจหายคอบ้าง  
         
ชาวบ้าน จะได้ไม่ต้องเผชิญ “สึนามิของแพง” เหมือนทุกวันนี้
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด